วัยรุ่นหลังเลนส์
ทุกคนย่อมเคยผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นหรือช่วงวัยที่เขาเรียกกันว่าหัวเลี้ยวหัวต่อมาเพราะชีวิตเกิดทางเลือกสำคัญ
หลายคนมองไม่เห็นปลายทาง มองไม่ออกว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ไม่ทันได้ค้นหาตัวเองก็เจอทางแยก
ซ้ำร้ายก็เจอทางตันแต่หากว่ายังมีสักวินาทีที่คิดว่ามันอาจจะยังทัน เหมือนอย่างเขาคนนี้
ดิษยนันท์ บุญประสิทธิ์ หรือบัสตี นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ช่างภาพแฟชั่นอิสระรุ่นใหม่ไฟแรง
Q: เล่าให้ฟังทีว่าเริ่มมาจับกล้องถ่ายรูปได้อย่างไร
ย้อนไปประมาณ ม.4 ผมค่อนข้างเป็นเด็กที่ก้าวร้าวเกเร
ยอมรับเลยว่าไม่อยากไปเรียน เราไม่มีความสุขในการเรียนเลย แม้กระทั่งว่าออกจากบ้านก็พยายามที่จะไปสายหรือโดดเรียน
อันนี้มะไม่เคยรู้นะแต่ก็จะรู้ตอนนี้แหละ (หัวเราะ)
แต่จำได้ว่ามีผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า
ถ้าไม่ตั้งใจเรียน โตมาจะไม่ได้งานดี ๆ ทำนะ ทำให้รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่สามารถลบคำสบประมาทนั้นได้
ช่วงนั้นเป็นงานกีฬาสีพอดี เราก็เลยไปบอกป๋า (พ่อ) ว่า
“ป๋าขอยืมกล้องหน่อยจะไปถ่ายงานกีฬาสี ป๋าพูดกลับมาคำเดียวเลยว่า เอาไปสิ” หลังจากนั้นมาก็คือเราก็ถ่ายรูปตั้งแต่นั้นมาตลอด
Q: ทำไมถึงหลงใหลโลกหลังเลนส์
ไม่กล้าใช้คำว่าหลงใหล
ใช้คำว่าชอบดีกว่า ผมชอบการถ่ายรูปเพราะการถ่ายรูปมันเหมือนว่า
เราสามารถหยุดภาพตรงนั้นในแบบของเราได้ สามารถสร้างรูปหนึ่ง สามารถสร้างคำอธิบายอะไรก็ได้ในรูปนั้น
สามารถโกหกอะไรก็ได้กับรูปภาพนั้น มันจะสวยไม่สวยมันก็คือเรา
เสน่ห์ของช่างภาพก็คือตรงนี้ เราสามารถสร้างสิ่งที่สวยงามได้ด้วยตัวเราเอง
Q: กล้องตัวแรก
ถ้าในการทำงานจะเป็นกล้องป๋าคือ Sony A77 เป็นกล้อง DSLR ของ Sony แต่ถ้าเป็นกล้องที่ซื้อเองตัวแรกจะเป็นกล้องฟิล์ม
Nikon FM2 ตัดสินใจซื้อมาตอนประมาณ ม.6 กล้องฟิล์มมันสนุกตรงที่ว่าเมื่อถ่ายไปแล้วเราจะไม่เห็นรูป
ต้องเอาไปล้างก่อน อีกอย่างคือผมชอบสีกับการเป็นความคลาสสิกของกล้องฟิล์ม
Q: จะฝึกเล่นกล้องต้องทำอย่างไร
ผมมองว่าการฝึกฝนมันไม่ใช่แค่การฝึก
อยู่ที่เราทำน้อยทำมากและทำยากหรือทำง่ายแค่นั้น
ถ้าเราทำน้อยมันจะเหมือนว่าเราไม่ได้ฝึกฝน
แต่ถ้าเราทำมากแล้วเราก็ทำยากด้วยนะ เน้นว่าเราทำยากให้ทุกงาน เราจะได้ฝึกฝนในทุก
ๆ งาน ถ้าคุณทำก็คือคุณได้
แต่ถ้าคุณไม่ทำก็คือคุณไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าคุณพร้อมจะเรียนรู้
พร้อมที่จะทำมันมากน้อยแค่ไหน
Q: งานแรกที่รับ
ได้โอกาสจากผู้ใหญ่ในบ้านหรือยีโก๋ครับ
ให้ผมไปถ่ายงานรับปริญญาของหลานสาว
ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าผมมีฝีมืออะไรทั้งสิ้น แต่มันเป็นแบบโอกาสที่ดี
ญามาอะห์ที่ดีคอยช่วยเหลือให้โอกาสกันตลอด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
Q: มีผลงานอะไรที่ผ่านมาแล้วรู้สึกชอบอยากเล่าให้ฟังบ้าง
เป็นผลงานอันล่าสุดที่ไปถ่ายมาชื่องานว่า
Fashtag เป็นแฟชั่นโชว์ธีสิสของเด็กม.เทคนิคกรุงเทพ ผมได้ไปถ่าย back stage ผมก็รู้สึกว่าผมชอบทางนี้
เพราะมันค่อนข้างอิสระทางด้านความคิด เขาไม่มีคอนเซ็ปต์หรือมีธีมมาให้ว่าอยากได้แบบไหน
เราได้โอกาสทำในรูปแบบของเราเองบวกกับความชอบแฟชั่นอยู่ด้วยแล้วจึงรู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ผมชอบที่สุด
Q: สไตล์ภาพของบัสตี
บอกไม่ได้ว่ามันออกมาแนวไหน
แต่ว่ามันเป็นการบ่งบอกตัวผมได้ดีที่สุด มันเป็นตัวผมเอง
ไม่ใช่ผมไปฝืนให้เหมือนใคร สไตล์ภาพมันไม่มีตายตัว
ผมพูดได้เพราะว่าช่างภาพทุกคนก็ตอบคล้าย ๆ กันว่า เราไม่มีสไตล์ภาพที่ชัดเจน
แต่เรารู้สึกว่าเราชอบแบบนี้ เราก็จะทำแบบนี้
Q:
ความยากของการเป็นช่างภาพ
ผมมองว่ามันอยู่ที่ความชอบ
การเป็นช่างภาพมันไม่ยากเลย แค่หยิบกล้องขึ้นถ่ายแล้วเอาไป process แต่มันยากตรงการเริ่มต้น
คุณจะเริ่มต้นทำมันได้ไหมแค่นั้นเอง ถ้าคุณเริ่มต้นทำมันแล้วคุณทำมันไปตลอด
มันจะไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ถ้าคุณเริ่มต้นแล้วมันไม่ใช่ คุณไม่ชอบ มันไม่ผิด
Q: เส้นทางอนาคตในอาชีพนี้
อยากเป็นช่างภาพไปเรื่อย
ๆ มีคนเคยถามว่าอยากมีชื่อเสียงในวงการไหม ผมไม่อยากมี ถามว่างานอยากมีไหม
มันอยากมี แต่ก็ไม่ได้อยากมีชื่อเสียงอะไรขนาดนั้น
อยากทำงานที่สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้
อยากทำงานบนพื้นฐานของความสุขความชอบแค่นั้นเอง ผมอยากรวยเวลามากกว่ารวยเงิน
ไม่อยากรวยเงินมากกว่ารวยเวลา
Q:
รู้จักกันเป็นเพื่อนกันถ่ายให้ฟรีได้ไหม
อุปกรณ์หรือสิ่งที่เรียนมามันมีราคา
ก็อยากให้เห็นคุณค่าของอุปกรณ์หรือคุณค่าของการเรียนรู้
อยากให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าเพื่อนจ้างเราแล้วเราลดราคาให้
แต่เพื่อนบอกว่าเฮ้ยไม่ต้องลด แน่นอนว่าความอยากทำ ช่างภาพมันอยากทำ
ช่างภาพมันทำได้ดี เพื่อนก็ได้ดี มันคือ win ทั้งคู่ แต่ถ้าเพื่อนบอกว่าถ่ายฟรีสิ
ช่างภาพเหมือนรู้สึกว่าเราขาดทุน ไม่สบายใจที่จะไปถ่าย นอกจากจะได้รูปไม่เงิน
เพื่อนก็ได้รูปไม่ดี ซึ่งมันจะทำให้เกิดการบาดหมางต่อกันได้
ผมมองว่าเราควรช่วยเหลือหรือสนับสนุนกันมากกว่า
การที่รู้สึกว่ามันคือเพื่อนมันต้องให้เรา
Q: อยากฝากอะไรหน่อยไหม
ก้าวแรกของทุกคนอยากให้มาจากครอบครัว
อยากให้ครอบครัวให้โอกาสทำในสิ่งที่เขาอยากทำ อย่าไปฝืนว่าเขาต้องตั้งใจเรียน
ได้เกรดสี่ ไม่ต้องไปฝืนเขาขนาดนั้น อยากให้สนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร
ทุกคนเกิดมาคือถูกสร้างมาให้มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้อยู่แล้ว
เด็กวัยเราควรที่จะได้ออกไปเจอโลกเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
อยากให้ค้นหาสิ่งที่เราชอบ เด็กบางคนไม่เคยได้รับโอกาสในการทำงาน
หรือทุกวันนี้เด็กที่ทำงานถูกมองว่าจน มันไม่ใช่ อยากให้น้อง ๆ ทุกคน ทำงานเถอะ มันจะหนักหน่อยแต่ว่าให้สู้กับมัน
ผู้ใหญ่อาจมองว่า ยังไม่ถึงวัยที่เราจะทำงาน แต่ว่ามันถึงวัยที่เราต้องเรียนรู้แล้ว
อยากให้คิดว่าไปเรียนรู้สังคมภายนอก เราต้องไปเรียนรู้การทำงานภายนอกว่าเราชอบอะไรแล้ววันหนึ่งเราจะภูมิใจว่าเรามีสิ่งที่ชอบ
เราหาตัวเองเจอ