มุสตอฟา องอาจ “อิหม่าม 4.0”

โพสเมื่อ : 2016-12-02 8:57 น. หมวดหมู่: Cover Story

มุสตอฟา องอาจ “อิหม่าม 4.0”

ช่วงนี้ ถ้าจะให้อินเทรนด์ ที่ไหนๆ ก็ต้องมี 4.0 ต่อท้าย ไม่ได้หมายถึงเกรดเฉลี่ยครับ แต่มีที่มาจากโมเดลการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” แล้วถามว่า 4.0 ล่ะ เกี่ยวอะไรกับปกของเราเล่มนี้ อ่านให้จบครับ แล้วจะเจอกับคำตอบที่รออยู่

“มุสตอฟา” อนุสรณ์ องอาจ วัย 35 ปี บุคคลที่เข้ามาทำงานศาสนา จนกลายเป็นอิหม่ามที่มีอายุน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ และน่าจะน้อยที่สุดในประเทศด้วยซ้ำ 

บัณฑิตจากวิทยาลัยอิสลามยะลาและมหาบัณฑิตจาก IIUM ประเทศมาเลเซียผู้นี้พกพาประสบการณ์จากการเป็นเด็กกิจกรรม ที่ช่วยให้เขากวาดรางวัลต่างๆ มากมายในอดีต ไม่ว่าจะเป็น เยาวชนแห่งชาติ เยาวชนดีเด่น หรือนักศึกษารางวัลพระราชทาน เขาได้ค่อยๆ เข้ามา “เปลี่ยน” มัสยิดแม่บางหรือบางอุทิศแห่งนี้ให้มีความสวยงาม สะอาดตา มีห้องประชุมใหม่ มีสุดยอดส้วมที่สะอาด ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เขาตอบแทนความไว้วางใจที่หยิบยื่นโอกาสคนรุ่นใหม่อย่างเขาเป็น อิหม่ามประจำมัสยิด 

“ผมทำกิจกรรมกับมัสยิดมาตั้งแต่เด็กๆ อายุ 13 ปีก็เริ่มสอนฟัรดูอีนให้คนอื่น ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เราเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่เขาหมายมั่นปั้นมือว่า จะให้มาเป็นตัวแทนของพวกเขาที่บางอุทิศแห่งนี้ ผมเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยอิสลามยะลา (ขณะนั้น) และต่อปริญญาโทที่มาเลเซีย ก็ด้วยทุนมัสยิดส่วนหนึ่ง หลังจบกลับมา ผู้ใหญ่ๆ ในมัสยิดท่านปูทางไว้ให้หมดแล้ว เริ่มจากให้ผมมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ในปี 2550 อายุเพิ่งจะ 26 ปี ส่วนที่ได้เป็นอิหม่ามนั้น ก็เพราะอิหม่ามอารีย์ ปราณี สั่งให้เป็น ท่านบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเป็นจากนั้นท่านก็ไปลาออก และจัดให้มีเลือกตั้ง เสียงส่วนใหญ่ก็ไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่นี้ ตอนนั้นเพิ่งมีอายุแค่ 31 ปี” อิหม่ามกล่าว   

สี่ปีที่ผ่านมา อิหม่ามวัยโจ๋ผู้นี้ ได้สร้างคุโณปการกับมัสยิดบางอุทิศมากมาย ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรม และอีกหลายอย่างที่คนนอกอาจมองไม่เห็น “ปรัชญาการทำงานของผม สัปบุรุษอยู่ได้ มัสยิดก็อยู่ได้ หลังจากเข้ามาเป็นอิหม่าม จึงพยายามเน้นแก้ปัญหาต่างๆ ของคนในชุมชนแห่งนี้ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต และการศึกษาเยาวชน ส่วนการปรับปรุงมัสยิดนั้น ก็ได้ลงมือทำไปหลายอย่าง ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่มัสยิดเรามีสิ่งที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้เป็นมรดก เรามีตรา “ตูร่า” ตราแผ่นดินออตโตมัน(ตุรกี) ซึ่งหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง พอรัฐบาลตุรกีเขารู้ เลยจัดงบประมาณมาร่วมบูรณะมัสยิดจนสวยงามตามที่เห็น สำหรับห้องส้วมนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องตอฮาเราะฮฺ (ความสะอาด) ซึ่งหลักอิสลามแล้วเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา วันหนึ่ง มีกรรมการมัสยิดมาเสนอว่า อยากปรับปรุงห้องน้ำมัสยิดใหม่ เลยนับเป็นโอกาส ทำทั้งที ทำแล้วต้องตอบโจทย์ เป็นหน้าเป็นตาของมัสยิด เงินก็ไม่ค่อยมี หารายได้กันเอง ทั้ง ขายบัตรวากัฟ จัดงานมัสยิด เราใช้เงินไปกับส้วม 1.7 ล้าน ส่วนเงินที่เหลือก็ไปทำห้องประชุม ซึ่งก็คุ้มค่า มัสยิดเราได้รางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2559 ของ กทม. ส่วนรูปที่แขวนหน้าส้วมนั้น ผมไม่ได้มองว่า ทำให้ต่ำต้อยด้อยค่าลงไป มีเหมือนกัน บางคนมาเย้ยหยัน อะไรกัน รูปอิหม่ามอยู่หน้าส้วม เรากลับมองว่า ดีซะอีก ถือว่า เราลงมาทำงานขั้นพื้นฐาน ผมไม่ใช่ผู้นำที่คอยชี้นิ้ว การเป็นผู้นำนอกจากพูดให้ทำแล้ว ต้องทำให้ดูด้วย แม้แต่ล้างห้องน้ำ ต้องนำให้เขาดู เห็นอิหม่ามทำ คนอื่นก็ทำ ทุกๆ วันเสาร์ จะมีคนในชุมชน มาช่วยกันล้างห้องน้ำ”  

ด้วยความที่เป็นมุสลิมที่เรียนศาสนามาตั้งแต่เล็ก ทางนำชีวิตเขาคือ การทำทุกอย่างเพื่อโลกนี้และโลกหน้า ความคิดจึงต่างจากเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันในการเลือกเส้นทางเพื่อประคับประคองชีวิต 

“ผมอาจจะคิดต่างจากคนอื่นๆ คนส่วนใหญ่ มักมองว่า ต้องรอให้อายุมากๆ แล้วค่อยมาทำงานศาสนา คิดแต่ว่า ทำแล้ว ได้อะไร มุสลิมจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะการได้คือมือล่าง เราเกิดมาต้องเป็นผู้ให้ และเป็นการให้ที่ไม่ต้องหวังอะไร เพราะพระผู้เป็นเจ้าจะคอยแทนให้อยู่แล้ว แม้ผู้ใหญ่พยายามพร่ำบอกมาตลอดว่า เรียนศาสนาไม่มีวันตกอับ แต่บางคนก็ยังเชื่อว่า เรียนศาสนาไม่สามารถประคองชีวิตให้อยู่ตลอดรอดฝั่งได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เรียนศาสนา ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่ไม่เรียนศาสนา   เพราะเรากำลังเรียนสิ่งที่พระเจ้าได้บอก ถือว่าเป็น ฮีดายะห์จากอัลลอฮฺที่ให้ครูบาอาจารย์มาชี้ทาง ส่วนสิ่งที่ผมอยากจะทำก็คือ ทำโรงเรียนสอนศาสนาแบบบูรณาการ ผมมองว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นประโยชนแก่คนในละแวกนี้ทั้งหมด” 

บทสรุปส่งท้ายของมุสตอฟา องอาจ อิหม่าม 4.0 ผู้นำคนรุ่นใหม่แห่งยุคดิจิทัล ผู้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ถือธงนำองค์กรศาสนาฝ่ากระแสพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

บทความล่าสุด

หลักคำสอนอิสลาม สู่การกำเนิด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ “Shabab Co...

อัสลามูอาลัยกุม ขอความจำเริญมาสู่พวกท่าน ในเดือนสุดท้ายของปี 2565 ก็ให้ทุกคนที่ต...

2022-12-21 10:09
“เราพยายามพัฒนาเรื่องการเซอร์วิสให้เป็นมาตรฐานโลก” อธิศ (อาห...

อธิศ (อาหมัด) นานา / Assistant Vice President Nouvo City Hotel “เราพยายามพัฒนา...

2022-11-29 16:55
นก บินซอและห์ / กับบทบาทใหม่ของการบริหารธุรกิจเนื้อวัว “สินธ...

ถ้าให้ลองนึกถึงเนื้อวัวคุณภาพสูงและราคาจับต้องได้ เราจะนึกถึงใคร แน่นอนว่าต้องมี...

2022-10-25 11:53
ประสบการณ์จากคุณพ่อ สู่การบริหารธุรกิจ Afeef Tours

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการท่องเที่ยวนั้นยังคงเป็นการพักผ่อนที่ใครหลายๆ คนชื่...

2022-09-19 10:05